20 เรื่องของหญิงผู้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตย ‘ออง ซาน ซูจี’
ไทยรัฐออนไลน์
ผู้หญิง ที่มีแววตามุ่งมั่น อยู่ในชุดแต่งกายประจำชาติที่หลายคนคุ้นชิน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญของประชาธิปไตยไปแล้ว เนื่องในโอกาสวันครบรอบวันเกิด 65 ปีเต็มของ ออง ซาน ซูจี 19 มิ.ย. ไทยรัฐออนไลน์ รวมรวมเกร็ดชีวิตต่างๆ 20 เรื่องเล่าที่หลายๆ คนยังไม่รู้..
1. บิดาของ ซูจี ชื่อ นายพลอองซาน ที่ชาวพม่ายกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า” ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2490 เมื่อเธอได้อายุได้ 2 ขวบ บทบาทของนายพลอองซานในการนำพม่าต่อสู้กับญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรที่เข้ามายึดครองพม่า ทำให้สหภาพพม่าได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชเมื่อ วันที่ 4 ม.ค. 2491
2. มารดาของเธอชื่อ ดอว์ขิ่นจี หลังจากสามีโดนลอบสังหารแล้ว ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรชายหญิง 3 คน โดยซูจีเป็นลูกคนเล็ก ภายหลังบิดาเสียชีวิตไม่นาน พี่ชายคนรองของเธอประสบอุบัติเหตุ จมน้ำตายในบริเวณบ้านพัก ซูจีและพี่ชายคนโตคือ อองซาน อู เติบโตมากับการเลี้ยงดูของมารดา ที่เข้มแข็ง และความเอื้อเอ็นดูของกัลยาณมิตรร่วมอุดมการณ์ของบิดา
3. เมื่อปี 2503 ดอว์ขิ่นจี ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่า ประจำประเทศอินเดีย ซูจีถูกส่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมและวิทยาลัยสตรีศรีราม ที่นิวเดลี จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญาที่เซนต์ฮิวส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ระหว่างปี 2507-2510 ช่วงที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซูจีได้พบรักกับ ไมเคิล อริส นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต
4. ปีเดียวกันกับที่ซูจีจบการศึกษา ดอว์ขิ่นจี หมดวาระในตำแหน่งทูตประจำประเทศอินเดีย และย้ายกลับไปพำนักที่ย่างกุ้ง ซูจี แยกจากมารดาเพื่อเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้คณะกรรมการที่ปรึกษา ด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณ และการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ ขณะนั้น อูถั่น ซึ่งเป็นชาวพม่า ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ องค์การสหประชาชาติ ในการทำงาน 3 ปีที่นี่ ซูจี ใช้เวลาช่วงเย็นและวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นอาสาสมัครให้โรงพยาบาล ในโครงการช่วยอ่านหนังสือ และดูแลปลอบใจผู้ป่วยยากจน
5. เดือน ม.ค. 2515 ซูจีแต่งงานกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามี ที่ราชอาณาจักรภูฏาน ซูจีได้งานเป็นนักวิจัยในกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ต่อมาในช่วงปี 2516-2520 ทั้งสองย้ายกลับมาที่กรุงลอนดอน
6. ซูจี ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก อเล็กซานเดอร์ ในปี 2516 และบุตรชายคนเล็ก คิม ในปี 2520 นอกจากใช้เวลากับการเลี้ยงดูบุตรชายทั้งสองแล้ว ซูจีเริ่มทำงานเขียน และงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดาและยังช่วยงานหิมาลัยศึกษาของ ไมเคิล ด้วย
7. เมื่อปี 2528-2529 ซูจี และไมเคิลตัดสินใจแยกจากกันระยะหนึ่ง เพื่อแสวงหาความก้าวหน้าทางวิชาการ ซูจีได้รับทุนทำวิจัยจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในการทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของนายพลอองซาน ซูจีพาคิม บุตรชายคนเล็กไปญี่ปุ่นด้วย ส่วนไมเคิลได้พา อเล็กซานเดอร์ บุตรชายคนโตไปอยู่ด้วยที่อินเดีย
8. ปี 2530 ซูจีและไมเคิลย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่อ๊อกซฟอร์ด ซูจีเข้าศึกษาต่อที่ London School of Oriental and African Studies ที่กรุงลอนดอน เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกเกี่ยวกับวรรณคดีพม่ากลับบ้านเกิดเพื่อสานอุดมการณ์และความฝันของ บิดา
9. อองซาน ซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเพื่อมาพยาบาล ดอว์ขิ่นจี มารดาที่กำลังป่วยหนัก ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีความวุ่นวายทางการเมืองในพม่า กดดันให้ นายพลเนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่ยึดอำนาจการปกครอง ประเทศพม่ามานานถึง 26 ปี ซูจี จึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2531 โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป
10. ปลายเดือน ส.ค. 2551 ออง ซาน ซูจี ในขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน ที่มาชุมนุมกันที่เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง ซูจีเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้งสภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ ขึ้นแทน และได้ทำการปราบปรามสังหาร และจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน ในวันที่ 24 ก.ย. 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยขึ้น (เอ็นแอลดี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมืองของนางออง ซาน ซูจี เริ่มต้นนับแต่นั้นเป็นต้นมา และที่สุดแล้วมารดาของซูจี ดอว์ขิ่นจี ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 27 ธ.ค. 2531
11. รัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณ ซูจี ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต่อมาขยายเป็น 6 ปีโดยไม่มีข้อหา และได้จับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี จำนวนมากไปคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง ซูจี อดอาหารเพื่อประท้วง และเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ เวลานั้น อเล็กซานเดอร์ และคิมอยู่กับมารดาด้วย ไมเคิลจากอังกฤษมาที่ย่างกุ้ง เพื่อเป็นกำลังใจให้ภรรยา ซูจี ยุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่า จะปฏิบัติอย่างดีต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง
12. กลางปี 2533 แม้ว่าซูจี จะยังคงถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดี ของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลเผด็จการทหารกลับปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะ แต่ยื่นข้อเสนอ ให้ซูจียุติบทบาททางการเมือง ด้วยการเดินทางออกนอกประเทศ ไปใช้ชีวิตครอบครัวกับสามีและบุตร แต่ซูจีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณจาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา
13. ปลายปี 2534 คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ นางออง ซาน ซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซูจีไม่มีโอกาสเดินทาง ไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วยตัวเอง เดือน ธ.ค. อเล็กซานเดอร์ และคิมบินไปรับรางวัล แทนมารดา
14. ซูจี ประกาศใช้เงินรางวัลจำนวน 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษาของประชาชนพม่า ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2538 ซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรก แต่เธอถูกห้ามไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชนที่มาชุมนุมอยู่หน้าบ้านของเธอเอง
15. การเคลื่อนไหวของซูจี ยังไม่หยุด เนื่องจากพม่ายังไม่มีประชาธิปไตย ซูจี ใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องของเธอ ต่อรัฐบาลทหารพม่า ออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่สามารถทำได้ กลางปี 2541 ซูจี นั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ของเธอ 5 วัน หลังจากถูกตำรวจ สกัดไม่ให้รถยนต์ของเธอเดินทางออกจากย่างกุ้ง เพื่อไปพบปะกับสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี เดือน ส.ค. 2541 ซูจี ถูกสกัดไม่ให้เดินทางไปพบปะสมาชิกพรรคของเธออีกครั้ง ซูจี ใช้ความสงบเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาถึง 6 วัน จนเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด เธอถูกบังคับพาตัวกลับที่พักหลังจากนั้น
16. ซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็นครั้งที่ 2 เป็นเวลา 18 เดือน และได้รับอิสรภาพจากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือน พ.ค. 2545 โดยในวันที่ 8 ธ.ค. 2544 ขณะที่ผู้รักสันติภาพทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี ของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกับฉลองวาระครบสิบปีที่ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เธอยังคงถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในประเทศพม่า ไม่มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตพร้อมกับผู้ ได้รับรางวัลคนอื่นๆ
17. เกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน ซูจี เมื่อปลายเดือน พ.ค. 2546 ระหว่างที่นางซูจี เดินทางเพื่อพบปะกับประชาชน ในเมืองเดพายิน ทำให้เธอถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2546
18. ปลายเดือน ส.ค. 2550 มีการประท้วงที่นำโดยคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชี นักศึกษาและประชาชน เนื่องจากการไม่พอใจของประชาชนต่อการประกาศขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบ เท่าตัว โดยมิได้ประกาศแจ้งบอกของรัฐบาลทหารพม่า การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยมา โดยคณะสงฆ์และประชาชนได้เดินทางไปยังบ้านพักนางออง ซาน ซูจี ผู้นำประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งเธอได้ออกมาปรากฏตัวเป็นเวลา 15 นาที โดยการเปิดประตูเล็กของประตูบ้าน พร้อมกับพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังให้พร การปรากฏตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2546
19. เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อนายจอห์น ยัตทอว์ ชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักที่ ออง ซานซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ เขาอาศัยอยู่กับ ซูจี เป็นเวลา 2 คืน ก่อนจะว่ายน้ำกลับมายังอีกฝั่งและถูกทหารพม่าจับกุมตัวในที่สุด ต่อมากลางเดือน พ.ค. 2552 ซูจี ถูกจับกุมตัวและนำไปคุมขังในเรือนจำอินเส่ง ในข้อหาละเมิดคำสั่งกักบริเวณของรัฐบาลทหารพม่า หลังจากนั้นไม่นานศาลพม่าอ่านคำพิพากษาว่า อองซานซูจี มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศมีโทษจำคุก 3 ปี แต่รัฐบาลทหารพม่าให้ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 18 เดือน และไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่ง แต่ให้กลับไปถูกควบคุมตัวในบ้านพักเช่นเดิม จากโทษครั้งนี้ทำให้ ซูจี อาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่า ที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือน พ.ค. 2553 ส่วนนายจอห์น ยัตทอว์ ถูกศาลสั่งจำคุกและใช้แรงงานเป็นเวลา 7 ปี ตามความผิด 3 ข้อหา
20. เมื่อเดือน เม.ย. 2553 ออง ซาน ซูจี ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ของรัฐบาลทหารพม่า โดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ว่าอยู่ภายใต้ท็อปบูตทหาร จนทำให้นักการเมืองนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาตำหนิเธออย่างรุนแรง
และนี่คือส่วนหนึ่งของเธอ อองซาน ซูจี ผู้หญิงเหล็กสมบัติล้ำค่าของโลก.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น